สมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวง "พระแม่แห่งแผ่นดิน"

พระราชกรณียกิจเพื่อราษฎร : มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้และประชาชนในชนบทห่างไกลได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้

พระราชกรณียกิจเพื่อราษฎร : มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงต่างๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงริเริ่มโครงการให้ราษฎรโดยเฉพาะชาวนาในท้องถิ่นชนบททำอาชีพเสริมโดยใช้เวลาว่างจากการทำนาทำไร่มาทำงานศิลปาชีพ จนราษฎรเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถในงานผลิต งานศิลปหัตถกรรม จนเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยและระดับสากล

กำเนิดโครงการศิลปาชีพ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค ได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของประชาชนชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรคือ ชาวสวน ชาวไร่และชาวนา ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ หลากหลาย เช่น ปริมาณผลิตผลไม่คงที่ ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชรบกวน บางปีต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้ง บางครั้งทำการเพาะปลูกไม่ได้ ผลผลิตราคาตกต่ำ ฯลฯ

ชาวไทยในชนบทส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพด้านเกษตรกรรมจึงมีรายได้ไม่แน่นอน  จึงมีพระราชดำริที่จะให้ราษฎรมีอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้พอเพียงแก่การยังชีพในภาวะปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ได้ทรงสังเกตเห็นผลงานหัตถกรรมพื้นบ้านหลากหลายประเภทเป็นงานฝีมือพื้นบ้านที่สืบทอดงานศิลปะเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีมาช้านานแล้ว โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นของตน โดยเฉพาะงานศิลปะบางอย่างใกล้จะเสื่อมสูญ จึงมีพระราชดำริจะอนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลปะเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้น ณ บริเวณสวนจิตรลดาและเปิดสอนสมาชิกในต่างจังหวัดในบริเวณพระราชนิเวศน์ทุกภาค ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน ทรงติดตามผลงานทุกชิ้น พระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกทุกคนและโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิด เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

โครงการส่งเสริมหัตถกรรมที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงอำนวยการอยู่ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางต้องทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อโครงการเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาล ข้าราชบริพารและผู้มีจิตศรัทธาจึงได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงใช้จ่ายในกิจการนี้และกราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 พระราชทานว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” พระราชทานทุนเริ่มแรกและทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เอง 

ต่อมารัฐบาลได้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณประโยชน์ของมูลนิธิฯ จึงได้รับเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐจัดตั้งกองศิลปาชีพขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2528 เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2531  คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในบรมราชินูปถัมภ์ พิจารณาเห็นว่า สมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ได้ยึดการทำงานศิลปาชีพ เป็นอาชีพหลักกันเป็นจำนวนมาก มิได้เป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น  นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงบริหารกิจการของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เองตลอดมา ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาด้วยพระอุตสาวิริยะ เพื่อมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  หาใช่เป็นเพียงการพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์เช่นมูลนิธิอื่นไม่ จึงเห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  เป็น "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" 

วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

1.เพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่กสิกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือในเวลาว่างจากฤดูเพาะปลูก ให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน โดยอาศัยวัสดุในท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลให้ราษฎรไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ อันอาจก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาวต่อไป นับได้ว่าเป็นการช่วยรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินของราษฎรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนชาวไทยภูเขาผู้มีอาชีพปลูกฝิ่นก็ทรงส่งเสริมให้หันไปประกอบงานฝีมือที่ชาวไทยภูเขามีความชำนาญอยู่แล้วคือ การเป็นช่างเงินช่างทอง

2.เพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยโบราณที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การทอผ้าแพรวา การจักสานย่านลิเภา การทำเครื่องถมเงินและทอง การทำคร่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ต้องใช้ฝีมือ ใช้เวลาและใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก จึงหาผู้ที่จะสนใจสืบทอดวิชาเหล่านี้เป็นอาชีพได้ยากยิ่ง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้

 

409543
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
113
42
509
408045
362
2413
409543

Your IP: 3.136.154.103
Sun, 05 May 2024 16:31:05 +0000